กระทั่งในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวัน หรือประมาณ 2,000 กว่าปีก่อน จึงได้มีการเปลี่ยนให้วันดังกล่าวเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน หรือวันตรุษจีน โดยกิจกรรมต่าง ๆ ได้มีการวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่เพื่อกวาดล้างโชคร้าย ประตูหน้าต่างต้องทาสีใหม่เพื่อความมงคล ตกแต่งบ้านเรือนด้วยกระดาษที่มีคำอวยพร ซื้อเสื้อผ้า เครื่องประดับ อาหาร และของขวัญ ทั้งยังเฉลิมฉลองด้วยการแสดงต่าง ๆ จนกลายมาเป็นเทศกาลสุดยิ่งใหญ่อย่างในปัจจุบัน
ที่สำคัญในทุกปีชาวจีนต้องมีการสวมใส่เสื้อผ้าสีมงคล อย่างในวันตรุษจีน 2566 สีมงคลยังคงเป็น “สีแดง” เช่นเดิม เพราะชาวจีนเชื่อกันว่าสีแดงเป็นสีแห่งความโชคดี ช่วยไล่ปีศาจร้ายให้ออกไป และช่วยนำพาความสุขมาให้ผู้สวมใส่ สำหรับสีต้องห้ามคือสีดำ สีเทา และสีขาว ที่เชื่อว่าเป็นสีแห่งการไว้ทุกข์ สีไม่มงคล และเป็นสีที่นำพาความโศกเศร้า สำหรับสาเหตุที่ทำให้วันตรุษจีนของทุกปีไม่ตรงกัน เป็นเพราะจำนวนวันในเดือนของปฏิทินจีนไม่เท่ากัน บางเดือนอาจมี 29 วัน หรือบางเดือนอาจมี 30 วัน ซึ่งมีความแตกต่างจากปฏิทินสากลที่เราคุ้นเคย โดยชาวจีนจะถือว่าคืนวันที่ 30 เดือน 12 เป็นวันส่งท้ายปีเก่า และวันที่ 1 เดือน 1 (ตามปฏิทินจีน) คือวัน “ชิวอิก” หรือวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ โดยปีนี้วันจ่าย วันไหว้ และวันตรุษจีน 2566 ตามธรรมเนียม มีดังนี้
• วันตรุษจีน 2566 วันจ่าย ตรงกับวันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2566
• วันตรุษจีน 2566 วันไหว้ ตรงกับวันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2566
• วันตรุษจีน 2566 วันเที่ยว ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2566